[ใหม่] ก่อนทุบตึก รื้อถอนอาคารทุกครั้ง ควรถาม “How?” ก่อน “How much?” เสมอ

302 สัปดาห์ ที่แล้ว - กรุงเทพมหานคร - เขตทุ่งครุ - คนดู 20
รายละเอียด
ก่อนทุบตึก รื้อถอนอาคารทุกครั้ง ควรถาม “How?” ก่อน “How much?” เสมอ

ในบทความนี้จะขอแชร์ประสบการณ์ในงานรื้อถอนอาคาร ทุบตึก ทุบบ้าน ของผมที่ผ่านมา

ลูกค้า ตลอดจนวิศวกรมักมองเรื่องงานรื้อถอนเป็นงานอันตราย บ่อยครั้งที่ผมได้เข้าไปรื้อถอนแล้วมักจะโดนทักในเรื่องนี้

- รื้อแล้วจะล้มลงมาทับบ้านเค้าหรือไม่?

- รื้อแล้วไม่กลัวตึกมาทับคนงานหรอ?

- รื้อแล้วหิน เศษคอนกรีตจะหล่นใส่คนเดินไปเดินมาบ้างไหม?

ตอบเลยครับว่า ไม่กลัวสักข้อ แหะๆๆ

ก่อนที่เราจะรื้อถอนอาคาร ตึกใดตึกนึง เราจะต้องรู้ลักษณะโครงสร้างมันเสียก่อน เช่น อาคารพื้นสำเร็จ , อาคารพื้นโพสเทนชั่น (มีสองระบบ จะกล่าวในบทความต่อไป) , อาคารโครงสร้างไม้ , อาคารเกิดการวิบัติ หรืออาคารลักษณะพิเศษ (ซึ่งจากประสบการณ์เคยเจออาคารสร้างแปลกๆมาบ้าง) , อาคารที่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้

เราจะต้องรู้ให้แจ่มแจ้งทั้งอาคารเราและอาคารใกล้เคียงเสียก่อน เหมือน อย่างคำคมสามก๊กที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”ก่อนลงมือวางแผนงานรื้อถอน ไม่ใช้รื้อไปคิดไป การจัดเตรียมแผนงานดี ผลตามออกมาก็จะดีตามไปด้วย

ในบทนี้จะขออธิบายวิธีการรื้อถอนอาคารโครงสร้างพื้นเท แบบมีคานรับพื้น มีเสารับคาน (คสล) (ซึ่งเป็นลักษณะอาคารที่พบเห็นได้ค่อนข้างมาก) โดยสามารถแบ่งขั้นตอน คร่าวๆ ได้ 3 หัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้

1. ขั้นตอนเตรียมงาน เช่น การประกันภัย , การสำรวจโครงสร้างอาคาร , การยื่นขออนุญาตรื้อถอน , การจัดทำรั้ว Protection , ทำกันชอบ , ตั้งนั่งร้านเพื่อบังฝุ่นอาคาร , ทำค้ำยันอาคาร ,ค้ำยันพื้น , จัดเตรียมระบบไฟฟ้า ประปาเพื่อสนับสนุนงานรื้อถอน , ทำแบบพิกัดเข็มเดิมฯลฯ

2. ขั้นตอนการรื้อด้วยแรงงานคน (ก่อนใช้เครื่องจักร) เช่น ใช้แรงงานคนทุบกันสาด ครีบ , ถอดระบบไฟฟ้า ประปา , ประตู , หน้าต่าง , การทุบผนัง งานสถาปัตถ์ต่างๆ , ถอดกระจก ฯลฯ

3. ขั้นตอนงานรื้อโดยใช้เครื่องจักร เช่น การใช้รถแมคโครหัวเจาะ หรือ หนีบ ทำการย่อยชิ้นส่วนต่างๆของอาคาร

วิธีการรื้อถอนอาคารพาณิชย์สูง 2-8 ชั้น อย่างปลอดภัย

1. ยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานราชการ สำนักงานเขต หรือ เทศบาล โดยจัดเตรียมเอกสาร ยื่นขอประมาณ 10-15 วัน (ใช้อะไร เตรียมอะไรบ้างจะขออธิบายในบทความต่อไปครับ)

2. สำรวจพื้นที่ กำหนดเส้นทางรถเข้าออก ที่พักคนงาน ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบน้ำฉีดละอองป้องกันฝุ่น พร้อมติดป้ายเตือนภัยต่างๆ

3. ตัดระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งานระบบทุกชนิดที่เข้าตัวอาคารทั้งหมด หากต้องการไฟฟ้าส่องสว่างหรือไว้ใช้ควรเดินสายไฟใหม่เข้าพื้นที่

4. สร้างรั้ว กันช้อน กันวัสดุตกหล่น

5. คลุมอาคารป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย ตั้งนั่งร้านคลุมอาคาร(หากงบประมาณเพียงพอ)

6. รื้อวัสดุแขวนลอยภายนอกและภายในอาคาร , รื้อระบบสายไฟ , ท่อประปา , พื้นไม้ (ถ้ามี) , รื้อหน้าต่าง ประตู ผนังกันห้องและฝ้าเพดานที่ทำจากไม้ , รื้อเฟอร์นิเจอร์ , สุขภัณฑ์ที่นำกับมาใช้ได้ (สรุป รื้อทรัพย์สินที่สามารถนำออกไปขายได้ออกก่อน หรือ รื้ออุปกรณ์วัสดุส่งคืนเจ้าของ)

7. ใช้แรงงานคนทุบ รื้อส่วนผนังก่อริมอาคาร กันสาด ครีบ แผง ทุกชนิดออกจากจุดเสี่ยงทั้งหมด (ยกเว้นครีบ ผนังก่อในตัวอาคาร) เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้อาจหลุดได้หากเกิดแรงสั่นสะเทือนจากงานรื้อถอนโดยใช้เครื่องจักร (ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่ของงานทุบตึก รื้อถอน มักจะเกิดจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ เกินกว่า 80%)

8. ใช้รถแมคโครบูมยาว หนีบย่อยหรือเจาะสกัด (ขึ้นอยู่กับพื้นที่โดยรอบ) ค่อยๆทำลายคอนกรีตจากชั้นบนลงล่าง (Top down) โดยหนีบหรือเจาะพื้นที่ในโซนกลางตึกออกก่อน ซึ่งวิธีการขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวอาคารด้วย

9. เมื่อลงมาถึงชั้น 2 หรือ ชั้น 3 ใช้รถแมคโครขนาด PC200 หรือ PC120 เจาะหรือหนีบย่อยอาคารลงมา

10. ย่อยซากที่ได้จากการรื้อถอน พร้อมตักเศษวัสดุออกนอกพื้นที่ พร้อมตัดเหล็ก เก็บเหล็กออกไปขาย

11. ขุดคานคอดิน ฟุตติ้งออกมาย่อย

12. ปรับพื้นที่พรัอมส่งมอบงาน

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ ไม่ง่ายเลย กว่าผู้รับเหมารื้อถอนจะได้เงินค่าจ้างจากเจ้าของอาคาร เจ้าของบ้าน มันผ่านหลายขั้นตอนมาก ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องเอาใจใส่ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอาคารต่างๆเหล่านั้นติดกับอาคารบุคคลอื่น

หากเจ้าของงานไม่ใส่ใจในเรื่องของ “วิธีการ” ในการรื้อถอน บ่อยครั้งที่เราจะเห็นความผิดพลาดของผู้รับเหมารื้อถอนเอง (ก็เนื่องจากรับงานมาถูก ส่วนนึงเพราะเจ้าของไม่มีงบในการทำให้ขั้นตอนมันถูกต้องนั่นเอง)



ก่อนที่จะรื้อถอน ทุบตึก รื้อถอนอาคาร รื้อบ้าน ครั้งใด ควรตั้งคำถามว่า กับตัวเอง


“How?” ก่อนที่จะถามคำว่า “How much?” เสมอ


สงวนสิทธิ์โดย บริษัท ปิยะมิตร กรุ๊ป จำกัด

โจ้ 0817551229