[ใหม่] พระกำแพงซุ้มกอ
รายละเอียด
พระซุ้มกอ กำแพงเพชร
พระซุ้มกอ เมืองกำแพงเพชร เป็นพระเครื่องสมัยสุโขทัย ที่คนโบราณกล่าวไว้ว่า “มีมหาชนเป็นอันมากนิยมนับถือลือชามาช้านานว่ามีคุณานิสงส์แก่ผู้สักการะ บูชาในปัจจุบัน หรือมีอานุภาพทำให้สำเร็จผลความปรารถนาแห่งผู้สักการะบูชาด้วยอเนกประการ”
เปิดกรุ
พระซุ้มกอเป็นพระกรุเนื้อดินที่ขึ้นมานาน เป็นที่รู้จักมากกว่าร้อยปีแล้ว คนโบราณเรียกว่า “พระทุ่งเศรษฐี” ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตามตำบลที่พบพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชรในปี พ.ศ.2392 ท่านได้อ่านศิลาจารึกโบราณว่ามีพระเจดีย์เก่าแก่ 3 องค์ ในบริเวณนั้น เมื่อพบพระเจดีย์และได้รื้อลงก็พบพระพิมพ์กับลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานสร้างพระพิมพ์และวิธีบูชา ต่อมาชาวกะเหรี่ยงชื่อ “พะโป๊” ได้ซ่อมพระเจดีย์เก่า 3 องค์ที่ชำรุด สร้างขึ้นใหม่รวมเป็นองค์เดียว มีรูปทรงแบบพระเจดีย์ทรงพม่าหรือกะเหรี่ยงซึ่งยังคงปรากฏอยู่ทุกวันนี้
ในกรุพบพระพิมพ์หลายชนิด เช่น กำแพงเม็ดขนุน ซุ้มกอ เม็ดมะลื่น นางกำแพง พลูจีบ กำแพงขาว ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่พระกำแพงซุ้มกอเป็นที่นิยมสูงสุด จัดอยู่ในพระชุดเบญจภาคี อันมี พระสมเด็จฯ พระรอด พระนางพญา พระซุ้มกอ และพระผงสุพรรณพระซุ้มกอเป็นพระที่พบบริเวณตำบลทุ่งเศรษฐี (นครชุม) บรรจุในพระเจดีย์หลายแห่ง เช่น วัดพระบรมธาตุ วัดพิกุล วัดฤาษี วัดกัลปพฤกษ์ ฯลฯ คงเป็นการยากที่จะบอกให้แน่ชัดได้ว่าพระองค์นี้พบที่กรุใด ส่วนใหญ่เป็นการเดาหรือคิดเอาเองมากกว่า นักเล่นพระจะนิยมระบุว่าเป็น “กรุวัดพระบรมธาตุ” หรือ “กรุวัดพิกุล” เพราะจะทำให้มีค่านิยมสูงกว่าพระที่มาจากกรุหรือวัดอื่น
พุทธลักษณะ
โดยรวมพระซุ้มกอมีพุทธลักษณะดังนี้
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธแบบ “วัดตะกวน” สมัยสุโขทัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว มีประภามณฑลรอบพระเศียร มีรูปเป็นตัว “ก” ไก่ (เป็นที่มาของชื่อ “พระซุ้มกอ”) พระอุระล่ำ เห็นเส้นสังฆาติชัด พระพักตร์องค์ที่ติดชัดจะเห็นพระเนตร พระโอษฐ์และพระนาสิก แต่ส่วนใหญ่จะเห็นไม่ชัดนัก เห็นราง ๆ เป็นบางส่วน รอบองค์พระมีเส้นรัศมีโดยรอบ บางพิมพ์มีลายกนกด้านข้าง
ด้านหลัง ด้านหลังเรียบ แบน ไม่มีลวดลายอะไร บางองค์มีรอยกาบหมากเป็นเส้น ๆ ขอบมักเป็นเส้นตอกตัด
เนื้อ เป็นเนื้อดินละเอียด แบบพระทุ่งเศรษฐี บางองค์เห็นว่านดอกมะขามประปราย พระบางองค์เนื้อจัดเพราะผ่านการใช้ ถูกสัมผัสมา บางองค์มีการลงรัก หรือทายางไม้ ทำให้พระมีความซึ้งมากขึ้น สำหรับเนื้อชินก็มี แต่พบน้อยมาก
ขนาด ส่วนสูงประมาณ 2.5 ซม. กว้างประมาณ 1.8 ซม. หนาประมาณ 0.8 ซม. ขนาดความใหญ่เล็กมีความแตกต่างกันบ้าง
การแบ่งพิมพ์ พระซุ้มกอแบ่งออกเป็นหลายพิมพ์ คือ
1.พิมพ์ใหญ่ ไม่มีลายกนก (เนื้อดำ)
2.พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก
3.พิมพ์กลาง
4.พิมพ์เล็ก
5.พิมพ์ขนมเปี้ยะ
6.พิมพ์พิเศษ “พิมพ์พัดใบลาน” (มีน้อยมาก)
สี ส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลอมแดง สีอ่อนแก่แตกต่างกันบ้าง สีดำก็มี แต่มีพบน้อย
พระพุทธคุณ
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 125 (พ.ศ.2449) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองกำแพงเพชร นายชิด ข้าราชการเก่า ได้ถวายรายงานเรื่องพระพิมพ์เมืองกำแพงเพชร “ข้าพระพุทธเจ้าได้สืบถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงตำนานพระพิมพ์เหล่านี้ อันเป็นที่เชื่อถือกันในแขวงเมืองกำแพงเพชรสืบมาแต่ก่อน ได้ความว่าพระพิมพ์เมืองกำแพงเพชรนี้ มีมหาชนเป็นอันมากนิยมนับถือลือชามาช้านานว่ามีคุณานิสงส์แก่ผู้สักการบูชา ในปัจจุบัน หรือมีอานุภาพทำให้สำเร็จผลตามปรารถนาแห่งผู้สักการบูชาด้วยอเนกประการ”(จาก จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
พระพุทธคุณที่ระบุในข้างต้นก็คือ ทำให้บูชาสำเร็จสมความปรารถนา คำว่า “อเนกประการ” คงหมายถึง “หลายประการ” แล้วแต่จะอธิษฐานขอในวัตถุประสงค์ใด
นอกจากนี้ ยังอาจคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย รวมทั้งการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ได้ทรงตั้งข้อสังเกต และทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า:“ที่เมืองกำแพงนี้ประหลาดว่าเป็นที่มีไข้เจ็บชุม ถึงถามชาวเมืองนั้นเองก็ไม่มีใครปฏิเสธสักคนหนึ่งว่าไข้ไม่ชุมและไม่ร้าย แต่ได้พบคนแก่ทั้งหญิงทั้งชายมากกว่าที่ไหนหมด กรมการคร่ำ ๆ อายุ 70-80 ก็มีมากหลายคน ราษฎรตามแถวตลาดก็มีคนแก่มาก ถ้าจะหารือพวกกำแพงจริงคงบอกว่าพระพิมพ์ป้องกัน ด้วยว่านับถือกันมาก” อย่างไรก็ดี ผู้นิยมพระเครื่องในปัจจุบันเชื่อกันว่าพระซุ้มกอและพระกรุทุ่งเศรษฐีอื่น ๆ มีพระพุทธคุณเด่นในทางอำนวยโชคลาภ บางท่านถึงกับกล่าวว่า “มีกูแล้วไม่จน” ซึ่งคงมีที่มาจากพระเครื่องนี้มีชื่อว่า “พระทุ่งเศรษฐี” ถือว่าเป็นมงคลนาม
บทสรุป
พระซุ้มกอเป็นพระเนื้อดิน สร้างโดยพระมหากษัตริย์สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า “พระมหาธรรมราชาลิไท” กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งสุโขทัยเป็นผู้ทรงสร้าง เมื่อกว่า 500 ปีมาแล้ว เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีโดยท่านจัดไว้คู่กับพระผงสุพรรณ พระพุทธคุณเป็นที่เชื่อถือมานาน ทั้งในด้านแคล้วคลาด โชคลาภ และเมตตามหานิยม คงเป็นเพราะพระซุ้มกอเป็นพระที่มีค่านิยมสูง ราคาอยู่ในหลักแสน หลักล้าน คำกล่าวที่ว่า “มีกูแล้วไม่จน” จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริงแต่อย่างใด